CD4 กับ Viral load คืออะไร ?

เมื่อเราติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้ว ไวรัสเอชไอวีจะเจาะเข้าไปในเม็ดเลือดขาวภูมิคุ้มกัน เพื่อเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสเอชไอวี ทำให้ CD4 จำนวนลดลง  เมื่อ CD4  ลดลง ปริมาณ Viral Load เพิ่มขึ้น  เมื่อมีเชื้อเอชไอวี( HIV) อยู่ในร่างกายนานๆ  เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายมากขึ้นนั่นเอง ในบทความนี้จะพูดถึง CD4 กับ Viral load ว่ามีความสำคัญอย่างไรกับผู้ป่วยเอชไอวี

CD4 คืออะไร

CD4 cells ย่อมาจากคำว่า Cluster of Differentiation 4 บางครั้งถูกเรียกว่า T-cells หรือ T-helper cells  CD4 คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่มีหน้าที่ควบคุม และต่อสู้กับเชื้อโรค และมีบทบาทในการจัดระบบภูมิต้านทานของร่างกายต่อการติดเชื้อ แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส หลายคนอาจยังเข้าใจผิดว่า CD4 คือ เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือภูมิต้านทานในร่างกายของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพียงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว ในคนที่ร่างกายปกติก็มีเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือ CD4 เช่นเดียวกัน

เชื้อไวรัสเอชไอวี มีผลมาทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ที่สำคัญนี้โดยตรง จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่เป็นปกติเปิดโอกาสให้ภูมิคุ้มกันถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าปล่อยไว้นานจนในที่สุดร่างกายจะไม่มี CD4 เซลล์มากพอที่จะต่อสู้ต้านทานเชื้อโรคและการติดเชื้อต่างๆ

Viral load คืออะไร

ค่า VL หรือ Viral load คือ ปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในเลือด 1 มิลลิลิตร (Cells/cu.mm) หากผู้ติดเชื้อเอชไวีกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จะทำให้ปริมาณของเชื้อเอชไอวีในเลือด เหลือน้อยกว่า 50 ตัว (ก๊อปปี้) ต่อ 1 มิลลิลิตรของเลือด (Viral load < 50 copies/ml) ทางการแพทย์จะเรียกว่า เป็นสถานการณ์ ควบคุมไวรัสได้ เป็นการควบคุมไม่ให้เชื้อไวรัสก๊อบปี้ตัวเพิ่ม  นั่นแสดงว่าเชื้อไวรัสเอชไอวี ในกระแสเลือด และของเหลวในร่างกายมีน้อยมากแล้วนั่นเอง

เมื่อไหร่ที่มีเชื้อเอชไอวีในเลือดสูง แสดงว่ายาที่ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีกิน ไม่สามารถควขคุมเชื้อไวรัสเอชไอวีได้ (มีการก๊อบปี้ตัวเพิ่มขึ้น)  เพราะว่ายิ่งมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายมาก ก็ยิ่งทำให้จำนวนของ CD4 ลดลง จึงทำให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น

Viral Load Test การตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส

Viral Load Test คือ การตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัสที่อยู่ในเลือด เพื่อประเมินสุขภาพของผู้ติดเชื้อว่าสามารถควบคุมปริมาณไวรัสไม่ให้มากเกินอยู่ในระยะปลอดภัยต่อสุขภาพได้หรือไม่  และใช้เป็นเครื่องมือประเมินผลการรักษาด้วยยาต้านไวรัสว่าสามารถลดจำนวนของไวรัสในกระแสเลือดลงได้ผลตามที่ต้องการหรือไม่

หลักการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

หลักการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

เชื้อเอชไอวีจะไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งเชื้อเอชไอวีนั้นจะถูกสร้างโดย CD4 Cell  เมื่อเชื้อมีปริมาณมากเซลล์ CD4 Cell ก็จะต่ำ จึงควรเริ่มการรักษาก่อนที่ภูมิคุ้มกันจะถูกทำลาย และนอกจากดูจำนวน CD4 Cell  แล้วก็ยังต้องดู viral load หรือปริมาณเชื้อที่อยูในกระแสเลือดด้วย หากพบ viral load มาก เชื้อในร่างกายก็จะมาก อวัยวะก็จะถูกทำลายมาก และเร็ว และที่สำคัญคือ อาจเกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้เชื้อดื้อยาได้ง่าย ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาคือจะต้องทำให้ปริมาณเชื้อ (viral load) ในร่างกายมีน้อยที่สุด  การรักษาจะใช้ยาร่วมกันหลายชนิดเพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา จำไว้ว่าหากเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาอย่าหยุดยาชนิดใดชนิดหนึ่งโดยลำพัง ให้ปรึกษาแพทย์เสมอ เพราะอาจจะทำให้เชื้อดื้อยา

เมื่อไรถึงจะเริ่มรักษา

จะเริ่มการรักษาเมื่อค่า CD4 ลดลง และมีปริมาณเชื้อเอชไอวีมาก (viral load) การรักษาผู้ป่วยจะแยกเป็นกรณีที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

  • กรณีการรักษาผู้ป่วยหลังสัมผัสโรคติดเชื้อ HIV ( Post-Exposure Prophylaxis ) ควรทำภายใน 72 ชั่วโมง เช่น การที่เจ้าหน้าที่ถูกเข็มตำขณะทำงานโดยที่เข็มนั้นเปื้อนเลือดผู้ป่วยติดเชื้อเอชๆอวี หลังสัมผัสเชื้อทันทีจะไม่สามารถใช้วิธีการเจาะเลือดหา viral load หรือ antigen หรือ antibody ได้ เพราะจะยังหาไม่พบ
  • การให้ยาแก่คนที่สัมผัสโรคจะสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ในกรณีของผู้ที่ร่วมเพศกับผู้ที่ไม่ทราบว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ยังไม่มีรายงานว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากแค่ไหน ดังนั้นผู้ที่สัมผัสโรคต้องปรึกษากับแพทย์ก่อนว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการใช้ยา หากต้องใช้จะเป็นเวลานานแค่ไหน และผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง
  • กรณี Primary Infection หมายถึง ภาวะตั้งแต่เริ่มได้รับเชื้อจนกระทั่งภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ HIV เพิ่มขึ้นจนสามารถตรวจพบได้ ช่วงระยะนี้มีเวลาประมาณ 12-20 สัปดาห์ หากพบผู้ป่วยในระยะนี้ต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าให้รับประทานตลอดชีวิต แต่บางท่านแนะนำให้รับประทานยา 24 เดือนแล้วลองหยุดยา
  • กรณีผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี โดยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic Patients with Established Infection ) การรักษาผู้ที่ติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ เป็นต้น

การรักษา

ก่อนการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อเอชไอวีในหลายแง่มุม รวมทั้งระยะของเชื้อ และอาการของโรค การดื้อยา ผลข้างเคียงของยา ราคายา การติดเชื้อโรคฉวยโอกาส เพื่อให้ผู้ติดเชื้อตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการรักษา และเมื่อผู้ติเชื้อทำการรักษาแพทย์จะจ่ายยาที่เหมาะสมกับผู้ติดเชื้อที่สุดเพื่อป้องกันการดื้อยา ผู้ติดเชื้อจะต้องปฎิบัติตามคำสั่งแพทย์ และต้องกินยาตามเวลาอย่างเคร่งครัด เพราะการขาดยาแม้เพียงมื้อใดมื้อหนึ่ง ก็จะทำให้ระดับยาในเลือดลดลง ซึ่งทำให้เชื้อดื้อยาได้

การเลือกใช้ยารักษาผู้ติดเชื้อ

ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ปริมาณเซลล์ CD4 และปริมาณเชื้อเอชไอวี (Viral load)
  • ประวัติการรักษาโรคติดเชื้อ HIV
  • ปริมาณยาที่ใช้และราคายา
  • ผลข้างเคียงของยา
  • การออกฤทธิ์ต้านกันของยาที่ใช้ร่วมกัน

เป้าหมายในการรักษา

เป้าหมายในการรักษา

เชื้อเอชไอี เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี จะทำให้เชื้อหยุด หรือชะลอการกลายเป็นโรคเอดส์  โดยมีเป้าหมายในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีดังนี้

  • เพื่อยืดอายุ และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในระยะยาว
  • หยุดการแบ่งตัวของไวรัสให้เหลือน้อยที่สุด(น้อยกว่า 50) และนานที่สุด
  • สามารถใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพให้นานที่สุด
  • ลดผลข้างเคียงของยา

ข้อสำคัญคือผู้ที่ติดเชื้อ HIV สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในระยะยาวโดยที่ไม่เกิดอาการ ทั้งที่ยังไม่ได้รักษา ดังนั้นผู้ป่วยบางรายยังไม่จำเป็นต้องรีบรักษาก็ได้ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์

การติดตามการรักษา

หลังการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น แพทย์จะนัดตรวจทุก 3-6 เดือน เพื่อประเมินสิ่งต่อไปนี้

  • ดูประสิทธิผลของยา หากได้ผลดี CD4-T และ viral load ควรจะอยู่ในเกณฑ์ดี
  • ผลข้างเคียงของยา และปัญหาเกี่ยวกับผู้ป่วย
  • ดูการดำเนินของโรคว่าเชื้อกลายไปเป็นโรคเอดส์หรือยัง
  • ดูว่ามีโรคฉวยโอกาสเกิดขึ้นหรือยัง
  • ดูแลสุขภาพทั่วไป

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก : bim100-th17 ,brianet ,caremat

Scroll to Top