การตรวจเอชไอวี เพื่อตรวจหาไวรัสเอชไอวี ( HIV : Human Immunodeficiency Virus ) เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง ซึ่งส่งผลต่อระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำนำไปสู่โรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป โดยที่เชื้อไวรัสเอชไอวีจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า CD4 และทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสเกิดการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ
หัวข้อต่างๆ
จะทราบได้อย่างไรว่าควรตรวจเอชไอวีแล้วหรือยัง?
แน่นอนว่าในเมื่อเอชไอวีเป็นต้นตอของผลกระทบของร่างกายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การตระหนักรู้ถึงการตรวจเอชไอวีจึงเป็นทางเลือกควบคู่ไปกับการป้องกันที่ดีร่วมด้วย โดยไม่สามารถกล่าวได้ว่าทางเลือกไหนควรทำมากกว่าหรือน้อยไปกว่ากัน ซึ่งคุณจะทราบได้อย่างไรว่าควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีแล้วหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และความพึงพอใจในการป้องกันของแต่ละบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วในระยะเริ่มต้นของผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน นับว่าเป็นการยากหากจะใช้การสังเกตอาการของตนแล้วค่อยเข้ารับการตรวจยืนยัน เพราะอาจทำให้เข้าสู่ระยะที่ลุกลามสู่โรคอื่น ๆ แล้วก็เป็นได้ ดังนั้นการตรวจเอชไอวีจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เหมือนกับการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ทั้งนี้ควรมองว่าเอชไอวีสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และลดการมองในแง่ลบต่อเอชไอวี ตลอดจนผู้ติดเชื้อหรือการตีตราผู้เข้าตรวจเอชไอวีด้วย จะทำให้แง่มุมต่อการตรวจเอชไอวี การรักษาเอชไอวี การป้องกันเอชไอวี เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และไม่ส่งผลต่อการตีตราทางสังคมที่ในปัจจุบันยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ตรวจ เอชไอวี กี่วันรู้ผล?
คำถามยอดฮิตที่หลายคนยังคงมีความสงสัยก่อนเริ่มทำการตรวจเอชไอวี ด้วยความที่ช่วงเวลาในการรอผลตรวจนั้น ส่งผลต่อความกังวลใจต่าง ๆ อย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อ แนวทางการรักษา ความกังวลใจต่อการแพร่เชื้อไปสู่คู่นอน ตลอดจนเรื่องสำคัญอย่างการรับมือของบุคคลในครอบครัว สิ่งเหล่านี้เองทำให้ช่วงเวลาในการทราบผล กลายเป็นสิ่งที่หลายคนเลือกวิธีการตรวจที่เร็วกว่าควบคู่ไปกับผลการตรวจเอชไอวี ที่มีความแม่นยำด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราไปดูพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าว่าการตรวจเอชไอวี แต่ละวิธีต้องใช้ระยะเวลากี่วันจึงจะรู้ผลที่ชัดเจน โดยการตรวจเอชไอวี ในปัจจุบันจะแบ่งได้ตามนี้
การตรวจเอชไอวี แบบ Anti-HIV
การตรวจเอชไอวี ที่ทราบผลได้ในเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง ด้วยการตรวจหาภูมิต้านทาน หรือ Antibody ในร่างกายที่มีต่อเชื้อไวรัสเอชไอวีโดยการตรวจเลือด เป็นวิธีที่สามารถตรวจเอชไอวี พบได้หลังจากติดเชื้อในร่างกายมาแล้วประมาณ 3-12 สัปดาห์ ดังนั้นหากผู้ตรวจทำการตรวจหลังการติดเชื้อได้ไม่นาน อาจได้รับผลตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) ได้ แพทย์จะแนะนำให้ทำการตรวจเอชไอวี ซ้ำอีกครั้งในช่วงเวลาที่แพทย์พิจารณาแล้ว
การตรวจเอชไอวี แบบ NAT (Nucleic Acid Testing)
การตรวจเอชไอวี ที่ทราบผลได้ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี โดยวิธีนี้สามารถตรวจพบเชื้อหลังจากติดเชื้อเอชไอวีได้ในช่วง 3-7 วัน ซึ่งในปัจจุบันวิธีนี้นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองผู้บริจาคโลหิตเท่านั้น แต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ในการตรวจเอชไอวี ภายในสถานพยาบาล
การตรวจเอชไอวี แบบ Rapid HIV Test
การตรวจเอชไอวี ที่ทราบผลได้ในเวลาเพียง 20 นาที นับว่าเป็นวิธีการตรวจที่เร็วกว่าวิธีอื่น ๆ อย่างมาก อย่างไรก็ตามยังใช้เพื่อการตรวจคัดกรองเท่านั้น เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีนี้เป็นเพียงการตรวจโดยการหยดเลือด หรือ ซีรั่ม ลงบนชุดตรวจคล้ายกับการใช้ชุดตรวจครรภ์ที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งในปัจจุบันมีวางจำหน่ายอย่างถูกต้องตามร้านขายยา รวมถึงคลินิกเฉพาะด้านทั่วประเทศ ดังนั้นจึงจะต้องทำการตรวจยืนยันโดยแพทย์อีกครั้ง ในกรณีที่ได้ผลบวก และในขณะเดียวกันหากได้ผลตรวจ เอชไอวี เป็นลบ ผู้ตรวจไม่ควรชะล่าใจ แนะนำให้ตรวจย้ำอีกครั้งหลังจากครั้งล่าสุดประมาณ 1 เดือน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อร่วมด้วย
การตรวจเอชไอวี แบบ Fourth Generation
การตรวจเอชไอวี ที่ทราบผลได้ในเวลาเพียง 20 นาที ด้วยจุดเด่นที่สามารถตรวจหาแอนติบอดีและแอนติเจนของเชื้อไวรัสเอชไอวีได้พร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งนิยมใช้อย่างแพร่หลายในการตรวจเอชไอวี เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อ โดยตรวจได้หลังจากติดเชื้อตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป
ข้อสังเกตที่เตือนว่าคุณควรตรวจเอชไอวี
ผู้ที่ทราบว่าตนผ่านความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมาไม่นาน ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีโดยทันทีหรือเร็วที่สุด ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับการตรวจเพื่อพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจ คำนวณได้จากการคาดการณ์สัมผัสเชื้อครั้งล่าสุดและเว้นระยะเวลาให้ผ่านระยะฟักตัวประมาณ 3 เดือน จึงจะเป็นเวลาการตรวจเอชไอวีที่ได้ประสิทธิภาพ โดยผ่านความเสี่ยงดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่ถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยขาดสติ หรือ ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่ไม่มั่นใจว่าคู่นอนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่

ข้อควรปฏิบัติหลังทราบผลว่าติดเชื้อเอชไอวี
หลังจากที่ทราบผลการตรวจเอชไอวี และได้รับการยืนยันจากแพทย์แล้วว่า ติดเชื้อเอชไอวี สิ่งที่จะต้องทำต่อจากนี้คือการเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด ด้วยการพิจารณาแนวทางการรักษาจากแพทย์เจ้าของไข้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสมเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่ผู้อื่น โดยมีแนวทางข้อควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- ทำความเข้าใจ ศึกษา ปรึกษา ซักถาม ข้อสงสัยต่าง ๆ จากแพทย์ให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง
- เข้าสู่กระบวนการรักษาเอชไอวีตามคำแนะนำของแพทย์โดยเร็วที่สุด
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ทานยาให้ครบและตรงเวลาที่กำหนด
- หากมีอาการผิดปกติในระหว่างการรักษา ควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อแจ้งอาการโดยเร็ว
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- คลายความกังวล ไม่คิดมาก ดูแลสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงร่วมด้วย
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ เสพสารเสพติดทุกชนิด การพักผ่อนไม่เพียงพอ