กลุ่มเสี่ยงเอชไอวี เอชไอวี เอดส์ ไวรัสเอชไอวี ตรวจเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ใครบ้างที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี

เอชไอวี (HIV) เป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่สามารถคิดค้นแนวทางการรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่วงการแพทย์ยังคงเดินหน้าทำการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยทั่วโลก รวมไปถึงการลดปริมาณผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีในระยะเอดส์ให้มากที่สุด ด้วยจุดมุ่งหมายนี้เองทำให้เกิดการรณรงค์และกระตุ้นการรับรู้ ถึงความร้ายแรงของเชื้อเอชไอวีควบคู่ไปกับการให้ความรู้ที่ถูกต้องต่อลักษณะอาการ การป้องกันที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับปรับทัศนคติที่ยังเกิดความเข้าใจผิดในปัจจุบันให้กระจ่างมากยิ่งขึ้น วันนี้เราจะไปดูเนื้อหาเกี่ยวกับ ใครบ้างที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี

โดยจากข้อมูลรายงานเมื่อปี 2532 จากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ที่ได้มีการเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลเป็นเวลา 1 ปี โดยการสุ่มตรวจจากติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มเป้าหมายที่จัดอยู่ในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด 8 กลุ่มหลัก ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ซึ่งจากข้อมูลขณะนั้นพบว่าเมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยต่อเนื่องมาถึง ปี 2551 พบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นมากถึง 48% โดยสิ่งที่ยังคงเป็นช่องโหว่อย่างเห็นได้ชัดในช่วงสมัยนั้น คือความหละหลวมในการเฝ้าระวังที่ไม่รัดกุม จากรายงานพบข้อมูลผู้ติดเชื้อเพียง 9 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลด้านเอชไอวีภายในประเทศไทย ยังไม่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • กลุ่มชายรักชายที่เข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือมีประวัติการรักษาในรอบปีที่ผ่านมา
  • กลุ่มชายที่ทำอาชีพขายบริการทางเพศ รวมถึงกลุ่มชาวประมงและกลุ่มแรงงานต่างชาติที่ประกอบอาชีพในประเทศไทยในช่วงนั้นมีอัตราเสี่ยงใกล้เคียงกัน
  • กลุ่มหญิงที่ทำอาชีพขายบริการทางเพศทางตรง ซึ่งประกอบอาชีพนี้เป็นหลักโดยไม่มีอาชีพอื่น ๆ ประกอบ
  • กลุ่มหญิงที่ขายบริการทางเพศทางอ้อม หรือ ประกอบอาชีพขายบริการแอบแฝงเป็นครั้งคราว
  • กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับการฝากครรภ์ในสถานพยาบาล
  • กลุ่มชายที่เข้าประจำการทหาร ซึ่งในช่วงนั้นพบสูงสุดในเขตพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ รองลงมาคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสุดท้ายคือภาคใต้
  • กลุ่มผู้บริจาคโลหิตในช่วงปี 2541 ถึง 2549

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี

เชื้อเอชไอวีเป็นไวรัสที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยแล้ว จะส่งผลให้เม็ดเลือดขาวภายในร่างกายถูกทำลาย กล่าวคือเอชไอวีจะทำให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวบกพร่องและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นคือ การได้รับของเหลวจากร่างกายของผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย เช่น เลือด ของเหลวในช่องคลอด อสุจิ และสารคัดหลั่งต่าง ๆ โดยสามารถแบ่งเป็นปัจจัยหลัก ๆ ได้ดังต่อไปนี้

การมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางช่องคลอด หรือ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่พบได้ในผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในหลายประเทศทั่วโลก อันเนื่องมาจากไม่ให้ความสำคัญในการ “ป้องกัน” อย่างถูกต้อง นั่นคือการไม่สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่คำนึงถึงผลเลือดของคู่นอนที่อาจมีเชื้อเอชไอวีในร่างกายทั้งรู้ตัว หรือ ไม่รู้ตัวก็ตาม ทั้งนี้ใช่ว่าพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะตามที่แพทย์ได้วินิจฉัยพบว่าการใช้ปากในการออรัลเซ็กซ์ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน หากมีบาดแผลในปากจะเสี่ยงสูงมากยิ่งขึ้น

การใช้เข็มฉีดยาหรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน

มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่ออื่น ๆ ได้ง่ายอย่างปฏิเสธไม่ได้ เนื่องจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสจากผู้ติดเชื้อโดยตรง ซึ่งกรณีนี้มักเกิดขึ้นในผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีด ส่งผลให้พบจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก

การติดเชื้อเอชไอวีจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร

ซึ่งส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงจากภายในครรภ์ รวมไปถึงการติดเชื้อเอชไอวีจากการทำคลอด ตลอดจนการให้นมบุตรด้วยเช่นกัน ในกรณีนี้จะไม่เกิดขึ้นได้โดยง่าย หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาเริ่มตั้งครรภ์จนถึงใกล้คลอด

การบริจาคเลือดโดยการถ่ายเลือด ณ สถานพยาบาลในไทยก่อนปี 2533

ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีการคัดกรองเชื้อเอชไอวี เนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดและไม่มีผลการศึกษาที่ชี้ชัดว่าเชื้อเอชไอวีสามารถส่งผ่านได้ทางเลือด โดยในปีถัดมาทั่วโลกได้มีข้อตกลงเริ่มต้นใช้มาตรฐานตรวจเอชไอวีในการคัดกรองก่อนบริจาคเลือด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่รับบริจาคเลือดต่อไป

ใครบ้างที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง

กลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้จัดว่าเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้ารับการตรวจเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ หรือ ตรวจเอชไอวีทันทีที่ทราบว่าเกิดความเสี่ยงอย่างกะทันหัน ได้แก่

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยในการป้องกัน
  • ผู้ที่เป็นชายรักชายและมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่ได้ป้องกัน
  • ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือ ไม่มั่นใจว่าคู่นอนของตนเสี่ยงเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
  • ผู้ที่ทราบว่าคู่นอนของตนมีเชื้อเอชไอวี
  • ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดยาร่วมกัน (ผู้ติดสารเสพติดชนิดฉีด)
  • ผู้ที่ทำอาชีพขายบริการทั้งทางตรงและบริการแอบแฝง
  • ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • ผู้ป่วยวัณโรค
  • ผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • ผู้หญิงมีครรภ์ที่เข้าฝากครรภ์ภายในสถานพยาบาล
  • บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทำให้ติดเชื้อเอชไอวี
  • ทารกที่เกิดจากมารดาซึ่งมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย

เมื่อไหร่ที่ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี?

เมื่อไหร่ที่ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี?

จากสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อมูลที่ช่วยให้ตระหนักถึงการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การตรวจเอชไอวีให้ทราบสถานะเลือดอย่างชัดเจน นับว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการที่มีความจำเป็นไม่แพ้กัน เพื่อให้ทราบผลอย่างทันท่วงทีและสามารถรับมือได้อย่างถูกต้องเมื่อทราบผล ซึ่งสามารถสังเกตตนเองหรือพิจารณาการเข้าตรวจเอชไอวีได้ดังต่อไปนี้

  1. เมื่อรู้ตัวว่ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือ ถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
  2. กรณีไม่มั่นใจว่าคู่นอนของตนมีความเสี่ยงว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
  3. ท้องเสียเรื้อรังประมาณ 1 สัปดาห์
  4. มีไข้ต่ำ ๆ ต่อเนื่อง
  5. น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว
  6. อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  7. ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอหรือขาหนีบ มีอาการโตผิดปกติ
  8. บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก และริมฝีปากมีแผล
  9. ผื่นขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ บริเวณเปลือกตา จมูก ช่องปาก และผิวหนังตามร่างกาย

ทั้งนี้จากข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้ว่า เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งอาจตรวจเอชไอวีพบหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการตรวจเอชไอวีเมื่อผ่านเหตุการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างทันท่วงที นับว่าเป็นการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่ไปสู่คู่นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี

ยิ่งเสี่ยงมากยิ่งต้องตรวจเอชไอวีบ่อยขึ้น

แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เข้ารับการตรวจเอชไอวีอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก ๆ 3 เดือน ซึ่งสามารถเข้ารับบริการในสถานพยาบาลทั่วประเทศ หรือ คลินิกที่เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับเอชไอวีมากมาย และสำหรับผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงไม่ควรชะล่าใจไม่เข้ารับการตรวจเอชไอวี เนื่องจากเอชไอวีเป็นภัยเงียบที่คุณอาจมีความเสี่ยงโดยไม่รู้ตัว แนะนำให้ตรวจเอชไอวีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อความมั่นใจในผลเลือดที่ชัดเจนนั่นเอง

การตรวจเอชไอวีในปัจจุบันมีความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนตัวสูง

ไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องข้อมูลส่วนตัวที่จะต้องใช้ในการตรวจ โดยทางผู้ให้บริการจะเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้เป็นความลับอย่างปลอดภัย เพื่อรักษาสิทธิของผู้เข้ารับการตรวจมากที่สุด

สามารถเข้ารับการตรวจเอชไอวีได้ฟรี

ผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจเอชไอวี สามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรีภายในสถานพยาบาลและคลินิกต่าง ๆ โดยสามารถค้นหาได้ง่าย ๆ ผ่าน https://love2test.org/th

ผลการตรวจเอชไอวี

ผลการตรวจเอชไอวี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ผลการตรวจเอชไอวีสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

ผลบวก : หากผลการตรวจเอชไอวีออกมาเป็นบวก หมายความว่า บุคคลนั้นติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา และป้องกันการแพร่เชื้อต่อผู้อื่น การรักษาเอชไอวีในปัจจุบันสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ผลลบ : หากผลตรวจเอชไอวีออกมาเป็นลบ หมายความว่า บุคคลนั้นไม่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยควรตรวจเอชไอวีซ้ำอีกครั้ง เพื่อป้องกันผลลบปลอมที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการที่ผู้ตรวจเข้ารับการตรวจในช่วงระยะฟักตัวของเชื้อ (Window period) ซึ่งไม่สามารถตรวจพบเชื้อได้แต่ร่างกายมีเชื้อเอชไอวีอยู่ ดังนั้นจึงต้องตรวจ HIV อีกครั้ง คือ 3 – 6 เดือน หลังจากการตรวจครั้งแรก

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การตรวจเอชไอวี เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ การตรวจเอชไอวียังช่วยให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สามารถช่วยลดความรุนแรง ลดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้

Scroll to Top