ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้มีการพัฒนา เกี่ยวกับแนวทางการตรวจเอชไอวีและการรักษาเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดจำนวนผู้ป่วย รวมไปถึงลดการแพร่กระจายของเชื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า “เอชไอวี (HIV)” ยังไม่มีแนวทางการรักษาให้หายขาดได้ 100% มีเพียงวิธีการป้องกันต่าง ๆ อย่างครอบคลุม พร้อมกับการตรวจเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอและทันท่วงที ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมไปถึงบุคคลทั่วไปที่ต้องการทราบสถานะของตน เพื่อให้มีความชัดเจนในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องและเหมาะสม บทความนี้จะกล่าวถึง แนวทางการตรวจเอชไอวี
กล่าวคือ การตรวจเอชไอวี มีความสำคัญเทียบเท่าการป้องกันตนเอง จากพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศต่าง ๆ หรือ ความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ที่สามารถนำเชื้อจากบุคคลหนึ่งสู่บุคคลหนึ่งได้ เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน อุบัติเหตุทางการแพทย์ (ความเสี่ยงของบุคคลากรทางการแพทย์) หรือ การติดต่อจากมารดาสู่ทารก ซึ่งในปัจจุบันสามารถเข้าถึงการตรวจได้สะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น ด้วยนโยบายของภาครัฐ ที่ได้มีการบรรจุให้การตรวจเอชไอวีเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ สามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรีจำนวน 2 ครั้งต่อปี ภายในสถานพยาบาลของรัฐที่สามารถใช้สิทธิได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจเอชไอวีได้ครอบคลุมทั่วประเทศ และช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของการให้คำปรึกษาและการตรวจเอชไอวีโดยแพทย์
การเข้ารับการตรวจเอชไอวี หรือ การเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับเอชไอวี เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ เพื่อทราบผลเลือดที่ชัดเจนว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีในร่างกายจริงหรือไม่ ช่วยให้ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวีมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ทั้งยังเป็นการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลของการตรวจเอชไอวีนั้น ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้เข้ารับการตรวจเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าผลการตรวจเอชไอวีจะออกมาเป็นอย่างไร ผู้เข้ารับการตรวจย่อมได้รับความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับเอชไอวี และมีประโยชน์ต่อการรับมือกับผลลัพธ์ได้อย่างเหมาะสม
- ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับคำแนะนำและคำปรึกษา รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีอย่างถูกต้องก่อนได้รับการตรวจเอชไอวี
- คู่สมรสสามารถวางแผนการมีบุตรได้ดียิ่งขึ้น
- ในกรณีที่มารดา หรือ บิดา ติดเชื้อเอชไอวี สามารถวางแผนป้องกันการติดเชื้อสู่ลูกได้
- สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและตระหนักถึงความปลอดภัยมากขึ้น
- ป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่คู่นอน หรือ ป้องกันตนเองจากคู่นอนที่มีเชื้อเอชไอวี
- รับการรักษาเอชไอวีได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการ หรือ มีอาการแทรกซ้อน
- ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
แนวทางการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวี
สำหรับการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีนั้น เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญก่อนการตรวจเอชไอวี ซึ่งเป็นแนวทางที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้ในการคัดกรองความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ประกอบด้วย 4 หลักการดังต่อไปนี้
Enter หรือ ทางเข้าของเชื้อเอชไอวี
เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ว่า ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวี ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางใด เช่น รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ บาดแผลเปิด หรือ จากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน (กรณีผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีด) เป็นต้น
Exit หรือ ทางออกของเชื้อเอชไอวี
เป็นแนวทางที่ใช้วิเคราะห์ว่า ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวีได้รับเชื้อไวรัสที่ออกจากร่างกายของผู้แพร่เชื้อ ทางของเหลวจากการมีเพศสัมพันธ์ น้ำอสุจิ หรือ เลือดของผู้ติดเชื้อ
Survive หรือ การมีชีวิตอยู่ของเชื้อเอชไอวี
แนวทางการวิเคราะห์ว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีจะสามารถมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมใด ๆ ได้ ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงก่อนการตรวจเอชไอวีที่แสดงว่า ผู้ตรวจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน โดยปกติเชื้อเอชไอวีไม่สามารถมีชีวิตได้ในอุณหภูมิสูง หรือสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรด-ด่าง เป็นต้น
Sufficient หรือ จำนวนของเชื้อเอชไอวีที่มากพอ
เป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงก่อนการตรวจเอชไอวี ที่แพทย์จะใช้เพื่อพิจารณาจำนวนของเชื้อเอชไอวีในร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจ โดยหากมีปริมาณที่ตรงตามข้อกำหนด จะทำให้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเอชไอวีในร่างกาย
แนวคิดการคุ้มครองสิทธิในการตรวจเอชไอวีตามหลักสากล
สิทธิที่ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวีจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับจากผู้ให้บริการเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันองค์กรสำคัญระดับโลกได้มีการกำหนดให้ การตรวจเอชไอวีเป็นไปตามหลักสากลภายใต้แนวคิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่พึงมี โดยมีหลักปฏิบัติสำคัญ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
- Consent หรือ การยินยอม : การคุ้มครองสิทธิของผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวี ในด้านการยินยอมที่ถูกต้องด้วยการเซ็นใบยินยอมตรวจเอชไอวีเป็นลายลักษณ์อักษร หรือ การกล่าวยินยอมทางวาจา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เข้ารับการตรวจ ซึ่งการตรวจจะต้องเป็นไปตามความสมัครใจและได้รับการยินยอมโดยตรงจากผู้นั้น
- Consent หรือ การรักษาความลับ : การที่ผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน มีมาตรการในการป้องกันเกี่ยวกับการปกปิดข้อมูล จากการตรวจเอชไอวีและผลการตรวจเอชไอวี ของผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อไม่ให้ผู้อื่นหรือผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงได้ หากไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้ที่เข้ารับการตรวจโดยตรง
- Counseling หรือ การให้คำปรึกษา : การที่ผู้ให้บริการด้านการตรวจเอชไอวีจะต้องให้คำแนะนำผู้เข้ารับการตรวจ ทั้งก่อนและหลังการตรวจอย่างถูกต้อง ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องผ่านการอบรบจากองค์กรที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
- Correct test result หรือ ผลการตรวจที่ถูกต้อง : การที่ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวีจะต้องได้รับบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยเอชไอวี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลการตรวจที่ได้รับจากผู้ให้บริการมีความถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด
- Connection to care หรือ การส่งต่อผู้ติดเชื้อ : การที่ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวีทราบผลการตรวจว่าติดเชื้อ จะต้องได้รับการส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษายังหน่วยงานที่รองรับ ด้วยแนวทางหรือมาตรการที่ครอบคลุมมากที่สุด
หลักปฏิบัติในการให้คำปรึกษาและ แนวทางการตรวจเอชไอวี
ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการกำหนดหลักปฏิบัติต่อการให้คำปรึกษา และการตรวจวินิจฉัยเอชไอวีรายบุคคล โดยสถานพยาบาลและผู้ให้บริการต่าง ๆ จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นแนวทางที่ตรงกันและถูกต้องตามหลักสากลดังนี้
- ในการตรวจเอชไอวี จะต้องใช้วิธีการทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่ได้มาตรฐาน เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ แต่ในกรณีเป็นชุดการตรวจเอชไอวีจะต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอย่างถูกต้องเท่านั้น
- การให้บริการอาจมีการปกปิดชื่อสถานที่ หรือ เป็นการให้บริการแบบนิรนาม เพื่อความมั่นใจของผู้ตรวจและหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ อีกทั้งควรให้บริการในลักษณะที่เข้าถึงง่าย
- ผู้ให้บริการตรวจเอชไอวีต้องดำเนินการภายใต้ความสมัครใจ และได้รับการยินยอมจากผู้เข้ารับการตรวจ ด้วยการยินยอมทางวาจาหรือการเซ็นยินยอม ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้เข้ารับการตรวจ
- ผู้เข้ารับการตรวจที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับการตรวจได้โดยไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมด้วยวาจาหรือเซ็นยินยอม แต่ต้องทำการลงบันทึกเวชทะเบียนไว้เป็นหลักฐาน หากผลการตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะพิจารณาแจ้งผลกับผู้ปกครอง ในกรณีที่วิเคราะห์แล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดเชื้อ โดยจะขออนุญาตผู้ติดเชื้อก่อนทำการแจ้ง
- ก่อนและหลังการตรวจเอชไอวีทุกครั้ง ผู้ให้บริการจะต้องให้คำแนะนำและคำปรึกษา ในรายละเอียดต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจมีความพึงพอใจมากที่สุด
- ไม่แนะนำหรือชี้แนะให้มีการใช้ผลการตรวจที่เป็นการกีดกัน ลิดรอนสิทธิ หรือ ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติในด้านต่าง ๆ เช่น การสมัครงาน
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
การตรวจเอชไอวี เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงมากหรือน้อย การรู้สถานะเอชไอวี ช่วยให้คุณสามารถวางแผนการใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ