นโยบายการยุติปัญหาเอชไอวี

นโยบายการยุติปัญหาเอชไอวี และการตรวจเอชไอวีจากอดีตถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลศูนย์ควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2524 พบผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็นโรคมะเร็งคาโปสิ ซาร์โคมา (Kaposi’s sarcoma) โรคปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติส คารินิไอ (Pneumocystis carinii) และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสอีกมากมาย ซึ่งจากการบันทึกไว้ทราบว่าไม่มีผู้ป่วยรายไหนรอดชีวิต แม้ว่าจะใช้วิธีรักษาด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ดีที่สุดของช่วงนั้นแล้ว จากนั้นจึงมีการกำหนดชื่ออย่างเป็นทางการให้โรคนี้ว่า Acquired Immuno-deficiency Syndrome หรือ AIDS ในบทความนี้ จะกล่าวถึง นโยบายการยุติปัญหาเอชไอวี และการตรวจเอชไอวีจากอดีตถึงปัจจุบัน

ในขณะนั้นจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในไม่กี่ปี โดยผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมชายรักชาย หรือ กลุ่มรักร่วมเพศ (Homosexuality) จึงมีความเข้าใจผิดต่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้ในแง่ลบ จนกระทั่งแพทย์ได้พบว่ามีผู้ป่วยโรคเอดส์จากการถ่ายเลือดได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดการศึกษาโรคเอดส์อย่างจริงจังในเวลาต่อมา ถัดมาในปี พ.ศ. 2527 คณะนักวิจัยจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า พบเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีภาวะของโรคเอดส์ โดยให้ชื่อว่า HTLV-III และในปัจจุบันคือ เอชไอวี (Human immunodeficiency virus : HIV)

ในประเทศไทยมีการสำรวจพบผู้ป่วยรายแรกอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2527 ซึ่งในโรคเอดส์ช่วง 3 ปีแรกของการแพร่ระบาดในไทย พบว่าผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่โดยมากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นกลุ่มชายรักชายเช่นเดียวกับที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงหญิงขายบริการ กลุ่มผู้ติดยาเสพติดประเภทฉีด และในเวลาต่อมาในปี พ.ศ. 2534 พบการแพร่ระบาดในหญิงตั้งครรภ์ส่งผลไปสู่การแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ทารกแรกคลอด

การระบาดของผู้ป่วยเอชไอวีในช่วงปี พ.ศ.2534 ถึง 2536 เป็นช่วงที่จัดว่ามีความรุนแรงที่สุดของประเทศไทย ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยจะเสียชีวิตในระยะสุดท้าย หรือ ระยะโรคเอดส์ เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึงปีละประมาณ 100000 – 150000 ราย และผู้ป่วยจำนวน 60000 ราย/ต่อปี ที่มีภาวะเข้าสู่ระยะโรคเอดส์ หรือ ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ส่งผลให้ร่างกายเกิดโรคฉวยโอกาสที่รุนแรง และเสียชีวิตในที่สุด นับว่าเป็นจำนวนที่จัดอยู่ในขั้นวิกฤติที่สร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนชาวไทยมากในขณะนั้น

นโยบายและมาตรการตรวจเอชไอวีของไทย

  • นโยบายประจำปี พ.ศ. 2534 (ปีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวีอย่างรุนแรงภายในประเทศไทย) รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศนโยบาย และกำหนดมาตรฐานให้มีการควบคุม และป้องกันโรคเอดส์ ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้ทราบถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสเอชไอวี และสร้างความตระหนักต่อการป้องกันการแพร่เชื้อผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวีและโรคเอดส์ พร้อมกับการกำหนดแนวทางการคุ้มครองสิทธิ การให้ความช่วยเหลือ กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีตลอดจนผู้ใกล้ชิด
  • นโยบายประจำปี พ.ศ. 2543 ได้มีการตระหนักถึงการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี ในรูปแบบการถ่ายทอดจากมารดาสู่ทารก โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกำหนดให้มารดาที่ฝากครรภ์กับทางสถานพยาบาล จะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเอชไอวีอย่างยินยอมด้วยความสมัครใจ ควบคู่ไปกับรับบริการฝากครรภ์และการคลอดบุตร พร้อมกับรับคำปรึกษา คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันเอชไอวี รวมถึงแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องในกรณีมารดาตรวจเอชไอวีพบระหว่างตั้งครรภ์
  • นโยบายประจำปี พ.ศ. 2545 ภาครัฐได้กำหนดนโยบายเพิ่มเติม ด้วยจุดประสงค์เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยเอชไอวีทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ยาวนานขึ้นกว่าในอดีต ควบคู่ไปกับการอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีคุณภาพในสังคมต่อไป
  • นโยบายประจำปี พ.ศ. 2548 เป็นปีที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการอนุญาต ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจเอชไอวีและการรักษาเอชไอวี ทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งไม่ใช่เจ้าของสิทธิบัตร ให้ใช้สิทธิ์ในการผลิตได้อย่างถูกต้องตามสิทธิบัตรยา หรือ Compulsory Licensing เพื่อการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการประกาศให้มีการจ่ายยาต้านเอชไอวีกับคนไทยทุกคนที่ต้องการ
  • นโยบายประจำปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมลงนามพันธสัญญากับประชาคมโลก ด้วยเป้าหมายสำคัญคือการหยุดการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีทั่วโลก ซึ่งกำหนดไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่เสียชีวิตจะต้องลดลงต่ำกว่า 4,000 ราย และผู้ป่วยรายใหม่จะต้องต่ำกว่า 1,000 ราย อีกทั้งยังต้องการให้การตีตราจากสังคมคนรอบข้างลดลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์
  • นโยบายประจำปี พ.ศ. 2557 มีการกำหนดนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจากสังคมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการให้บริการตรวจเอชไอวี การรักษาเอชไอวี ที่ครอบคลุมทั่วประเทศไทย และในปีเดียวกันนี้เองที่ได้นำปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี เข้าบรรจุให้อยู่ในวาระแห่งชาติจำนวน 3 เรื่องด้วยกัน คือ การเพิ่มงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในปีถัดไปจนถึงปี พ.ศ. 2562 สร้างการรับรู้ในรายละเอียดด้านเอชไอวี ไปจนถึงการตรวจเอชไอวีที่ถูกต้อง และลดอัตราการติดเชื้อจากผู้ที่ติดสารเสพติดชนิดฉีดจากเดิมที่สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
  • นโยบายประจำปี พ.ศ. 2559 การให้ความสำคัญต่อการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากมารดาสู่ทารกอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศแรกของทวีปเอเชียที่ดำเนินการได้สำเร็จ โดยการรับรองจากองค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนมิถุนายนปี พ.ศ. 2559

การพัฒนาของการตรวจเอชไอวีของไทยในปี 2563

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันเอดส์โลก หรือ World AIDS Day ทางหน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสนอโครงการที่น่าสนใจเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี เพื่อขยายแนวทางในการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีร่วมกับการตรวจที่สามารถทำได้ง่ายและสะดวกกว่าเดิม ด้วยการนำสื่อออนไลน์เป็นตัวช่วยในการสื่อสารระหว่างผู้ที่ต้องการตรวจเอชไอวีและสถานพยาบาลนั้น ๆ เป้าหมายในโครงการดังกล่าวคือ ให้ผู้ที่ต้องการตรวจเอชไอวี หรือ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ สามารถตรวจเอชไอวีผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตัวเองอย่างเหมาะสม ลดความไม่มั่นใจในการเดินทางไปตรวจยังสถานพยาบาล รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการตรวจเอชไอวีที่สะดวกสบาย

สู่เป้าหมายสำคัญ UNAIDS 90 – 90 – 90

  • 90 แรก คือ 90% ของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ต้องรู้สถานะของตัวเอง
  • 90 สอง คือ 90% ของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
  • 90 สุดท้าย คือ 90% ของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ที่ได้รับยาต้านแล้ว ต้องกดเชื้อไวรัสได้สำเร็จ

ยุทธศาสตร์แห่งชาติในการยุติปัญหาเอดส์ในไทยภายในปี 2573

ยุทธศาสตร์แห่งชาติในการยุติปัญหาเอดส์ในไทยภายในปี 2573

เป็นเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาด้านเอชไอวีอย่างยั่งยืน ด้วยระยะเวลาในการพัฒนาตั้งแต่ พ.ศ.2560 ถึง 2573 โดยมีเป้าหมายหลักในการให้สิทธิมนุษยชน ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม สร้างความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งได้กำหนดให้บรรลุเป้าหมายอย่างชัดเจน ดังนี้

  • ลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี ไม่เกิน 4,000 รายต่อปี
  • ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่เกิน 1,000 รายต่อปี
  • ลดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และภาวะใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพศภาวะร้อยละ 90

เพื่อให้การยุติปัญหาเอชไอวี และเอดส์ประสบความสำเร็จในระยะตามที่วางเป้าหมายไว้ จึงได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นมาตรฐานอย่างครอบคลุมมากที่สุด ด้วยยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ข้อดังนี้

  1. การมุ่งเน้นให้มีการให้บริการทั้งการรับคำปรึกษา การตรวจเอชไอวี การเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ครอบคลุมผู้ที่อยู่ในพื้นที่หรือภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และแพร่เชื้อเอชไอวีสู่ผู้อื่น
  2. การยกระดับคุณภาพในการดำเนินงานด้านการป้องกันเอชไอวี ด้วยการบูรณาการและเพิ่มความเข้มข้นให้สามารถยุติปัญหาเอชไอวีได้อย่างยั่งยืน ทั้งในเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ โดยจะต้องครอบคลุมกลุ่มบุคคลทั้งหมดในประเทศไทย
  3. การพัฒนาเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี การรักษา การดูแลผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงการช่วยเหลือคุณภาพชีวิตรอบด้านอย่างยั่งยืน ทั้งในผู้ป่วยตลอดจนผู้ใกล้ชิด
  4. การปรับความเข้าใจในระดับชุมชน ครอบครัว ตัวบุคคล เพื่อลดการเลือกปฏิบัติและการกีดกันต่าง ๆ ต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีรวมถึงภาวะใด ๆ ของเอชไอวีทั้งหมด
  5. การเพิ่มความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระบบท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น
  6. การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเอชไอวีอย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัย นโยบาย การพัฒนากลยุทธ์ การวางแผน ในด้านการตรวจเอชไอวี แนวทางการรักษา รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ตลอดจนบุคคลใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

การบรรลุเป้าหมาย นโยบายการยุติปัญหาเอชไอวี ในประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยภาครัฐต้องเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์การยุติปัญหาเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องสร้างความเข้าใจและรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและโรคเอดส์อย่างต่อเนื่อง ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวีและครอบครัว และประชาชนทุกคนต้องตระหนักถึงความเสี่ยงและวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี

Scroll to Top