เชื้อเอชไอวี (HIV) ย่อมาจากคำว่า Human Immunodeficiency Virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2524 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จะมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับภูมิต้านทาน ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากผลการศึกษาย้อนหลังได้ข้อเท็จจริงว่า เชื้อไวรัสเอชไอวีเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ ปี พ.ศ.2503 มีต้นกำเนิดในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งต่อมาเชื้อไวรัสนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก และในที่สุดพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2527 (อ้างอิงจากรายงานครั้งแรกที่มีการบันทึกไว้) ซึ่งในช่วง 6 ปีต่อมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการประกาศจากรัฐบาลให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือ โรคเอดส์ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานโรคเอดส์แห่งชาติขึ้นในปี พ.ศ.2528 ในบทความนี้จะกล่าวถึง ประโยชน์ของการตรวจเอชไอวี
ปัจจุบันประเทศไทยมีการคาดการณ์ประมาณล่าสุด (Spectrum-AEM 2019,6 เม.ย.2563) ว่าจะพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 472,376 ราย และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จำนวน 4,855 ราย โดยจากสถิติพบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ที่ทราบว่าตนติดเชื้อคิดเป็น 99.8% ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งหมด จากข้อมูลดังกล่าวได้สื่อถึงการตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน และการตรวจเอชไอวีที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เอชไอวี คืออะไร?
เอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดเชื้อมีความบกพร่อง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันมีความอ่อนแออย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างปกติ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น มะเร็ง วัณโรค และหากไม่ได้รับการตรวจเอชไอวีและได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีโอกาสเข้าสู่ระยะ โรคเอดส์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ในที่สุด
การตรวจเอชไอวีในปัจจุบัน
เนื่องจากยังไม่มีแนวทางการรักษาเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่การพัฒนาทางการแพทย์นั้นสามารถคิดค้นการตรวจเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อให้สามารถทราบถึงสถานะที่ชัดเจน และสามารถรับมือต่อผลการตรวจเอชไอวีได้ดีมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่ตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในร่างกาย ก็สามารถมั่นใจได้มากยิ่งขึ้น นำไปสู่การป้องกันรวมถึงการตระหนักรู้ต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากในกรณีที่ผลตรวจเอชไอวีและมีผลออกมาว่าติดเชื้อเอชไอวี ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีรวมถึงป้องกันการแพร่สู่ผู้อื่นได้ ซึ่งการตรวจเอชไอวีในปัจจุบันมีวิธีการดังนี้
- HIV p24 antigen testing คือ วิธีการตรวจเอชไอวีเพื่อหาแอนติเจนของเชื้อไวรัสเอชไอวี ที่สามารถตรวจได้หลังจากการติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อของผู้ป่วยระยะเฉียบพลันหรือระยะแรก ด้วยการตรวจโปรตีน p24 เนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยยังไม่สร้าง Anti-HIV หรือ ร่างกายมีระดับ Antibody ต่ำมากทำให้ไม่สามารถตรวจวัดค่าได้
- Anti-HIV testing คือ วิธีการตรวจเอชไอวีด้วยการตรวจการ Anti-HIV testing โดยสามารถตรวจพบได้หลังจากที่ร่างกายติดเชื้อ HIV ประมาณ 3 สัปดาห์ เป็นการตรวจประเภท Anti จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี ซึ่งได้รับความนิยมในการตรวจคัดกรองในปัจจุบัน
- HIV Ag/Ab combination assay คือ วิธีการตรวจเอชไอวีที่ทางการแพทย์นิยมใช้ในการคัดกรองผู้ป่วย โดยใช้ชุดตรวจ Antibody แบบจำเพาะต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี และ Antigen สามารถตรวจพบได้หลังจากที่ร่างกายติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 2 สัปดาห์ เป็นการตรวจที่สามารถตรวจ HIV p24 antigen และ Anti-HIV ได้ในครั้งเดียว โดยช้หลักการตรวจด้วยน้ำยาตรวจ Fourth generation
- Nucleic acid test (NAT) คือ วิธีการตรวจเอชไอวีด้วยการหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี ซึ่งในปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่มีการนำเข้ามาบรรจุในการคัดกรองผู้ป่วยภายในสถานพยาบาล แต่ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ตรวจหาเชื้อเอชไอวีได้เร็วที่สุด โดยสามารถตรวจหลังจากที่ร่างกายติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 3 วัน ถึง 1 สัปดาห์
ประโยชน์ของการตรวจเอชไอวี
❖ สามารถป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีได้
การเข้ารับการตรวจเอชไอวีเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนอาจมองว่าไม่มีความจำเป็น ความจริงแล้วเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรได้รับการตรวจอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ดังนี้
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน กับบุคคลที่มีความเสี่ยง
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันและไม่มั่นใจในคู่นอน
- ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและนำไปสู่การติดเชื้อ
- ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุโรคใดโรคหนึ่ง
- ผู้ป่วยด้วยโรควัณโรค
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และทำการฝากครรภ์กับสถานพยาบาลต่าง ๆ
- ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีดและมีพฤติกรรมใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น
❖ ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ 100% แต่มียาที่ช่วยรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวี โดยการยับยั้ง หรือ ต้านไวรัสไม่ให้เกิดการแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสามารถช่วยลดการแพร่สู่บุคคลอื่นได้ ซึ่งในการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะใช้ยา ARV หรือ Antiretroviral Drugs ที่ปัจจุบันได้รับการรับรองมากกว่า 25 ชนิด โดยใช้ร่วมกันอย่างน้อย 3 ชนิดขึ้นไป ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาให้กับผู้ป่วยรับประทานทุกวัน และจะต้องทานเป็นเวลาเดียวกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลของการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ที่เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มีชีวิตยาวนานมากขึ้นกว่าผู้ป่วยในอดีต สามารถมีสุขภาพที่แข็งแรง ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
❖ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอให้แสดงอาการ
ในทางการแพทย์เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเอชไอวี และมีผลการตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี แพทย์จะทำการแยกผู้ป่วยและรักษาตามระยะอาการ โดยแบ่งจากลักษณะอาการที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งประกอบด้วย 3 ระยะดังนี้
- ระยะเฉียบพลัน หรือ ระยะติดเชื้อปฐมภูมิ (Acute HIV Infectious)
เป็นระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวีในร่างกาย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยในระยะนี้จะมีอาการที่ผิดปกติน้อย และอาการทั่วไปจะคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังจากผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี และสามารถหายได้เอง ทำให้เป็นระยะที่ยากต่อการตรวจวินิจฉัย - ระยะติดเชื้อเรื้อรัง หรือ ระยะสงบทางคลินิก (Clinical latency)
เป็นระยะที่สองของการติดเชื้อเอชไอวี โดยร่างกายของผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการใด ๆ ซึ่งเชื้อไวรัสเอชไอวีจะมีการเพิ่มปริมาณในร่างกายบริเวณต่อมน้ำเหลือง และม้าม มากที่สุด ส่งผลให้ CD 4 positive T-cell ลดลงเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ระยะนี้จะใช้เวลายาวนานถึง 10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบภูมิต้านทานของผู้ป่วยแต่ละคนร่วมด้วย - ระยะสุดท้าย หรือ ระยะโรคเอดส์ Acquired (Immunodeficiency Syndrome: AIDS)
เป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี เนื่องจากเชื้อไวรัสได้ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเกือบทั้งหมด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อฉวยโอกาสอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงต่ออวัยวะสำคัญ เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา เป็นต้น
ดังนั้นการเข้ารับการตรวจเอชไอวีโดยไม่ต้องรอให้มีอาการที่ผิดปกติเกิดขึ้นก่อน จึงเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อให้สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีในร่างกาย ก่อนที่จะลุกลามไปสู่ระยะที่รุนแรงหรือมีโรคแทรกซ้อนมากยิ่งขึ้น
❖ ป้องกันคู่รักติดเชื้อหรือแพร่เชื้อ
แน่นอนว่าการตรวจเอชไอวีจะส่งผลดีอย่างมากต่อการวางแผนครอบครัว หรือ สร้างความมั่นใจต่อคู่รัก หากกรณีที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมาก่อน การตรวจจะช่วยให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น แต่หากตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวีควรพาคู่รักไปตรวจด้วยเช่นกัน เพื่อทราบแนวทางการรักษาหรือการป้องกันที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
❖ สามารถวางแผนป้องกันการติดเชื้อไปสู่ลูกได้
ผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีและต้องการวางแผนการมีบุตร จะต้องทำการตรวจเอชไอวีก่อนตั้งครรภ์เพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด หากมีการตั้งครรภ์ควรฝากครรภ์โดยเร็วที่สุดก่อนอายุคครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างการฝากครรภ์และหลังคลอดจะได้รับยาต้านเอชไอวีที่เหมาะสม เพื่อลดปริมาณเชื้อไวรัสให้ต่ำที่สุด และส่งผลต่อการป้องกันการติดเชื้อในทารกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
❖ เพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวีได้อย่างถูกต้อง
สิ่งที่สำคัญต่อการเข้ารับการตรวจเอชไอวี เมื่อพบว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ย่อมส่งผลดีต่อการทำความเข้าใจและการตระหนักถึงความอันตรายต่าง ๆ ของเชื้อไวรัสชนิดนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมิใช่ดีสำหรับแค่ตนเองเท่านั้น ยังส่งผลดีต่อการป้องกันการแพร่กระจายไปสู่คู่รักของตนเองได้อีกด้วย ในขณะเดียวกันผู้ที่ไม่ติดเชื้อก็ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันได้มากยิ่งขึ้น
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
การตรวจเอชไอวี เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง การตรวจเอชไอวีจะช่วยให้ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง และสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น และลดความเสี่ยงในการป่วยจากโรคฉวยโอกาสได้
Pingback: วิธีการตรวจเอชไอวีและหลักการสำคัญที่ต้องรู้ | Love2Test