เอชไอวี (HIV : Human Immunodeficiency Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้ ‘ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง’ ที่หากไม่ได้รับการตรวจพบโดยเร็ว เชื้อที่สะสมอยู่ในร่างกายจะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลง และเมื่อดำเนินไปสู่ระยะสุดท้ายคือ ‘เอดส์’ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เม็ดเลือดขาวในร่างกายจะมีจำนวนลดลง มีโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนจนเสียชีวิตในที่สุด การตรวจหาเชื้อเอชไอวี เป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลร่างกายที่สำคัญและทุกคนสามารถทำได้
ข้อดีของการตรวจเอชไอวี
- ป้องกันการแพร่เชื้อหรือติดเชื้อเอชไอวี
- ถ้าสถานะการตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) จะได้รับความสบายใจ และสามารถวางแผนป้องกันตัวเอง
- ถ้าสถานะการตรวจเป็นบวก (ติดเชื้อ) จะสามารถวางแผนในการรักษา และการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเอชไอวีต่อไปได้เลยทันที
- ไม่จำเป็นต้องรอกระทั่งมีการแสดงอาการ
- ลดความเสี่ยงในการติดโรคฉวยโอกาสที่อาจตามมา
- ได้รับความรู้เกี่ยวกับ เอชไอวี โรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
ตรวจเอชไอวีมีกี่รูปแบบ
ปัจจุบันมีวิธีการตรวจเอชไอวี ที่เป็นที่รู้จักอยู่ทั้งหมด 3 แบบ
- NAT (Nucleic Acid Testing) เป็นการตรวจหาเชื้อ HIV ที่เร็วที่สุด สามารถตรวจได้หลังจากมีความเสี่ยงมาประมาณ 5-7 วัน เป็นวิธีตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสเอชไอวี ด้วยการตรวจปริมาณของเชื้อและตรวจการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย
- Anti-HIV ตรวจโดยการหาว่าภูมิต้านทานในเม็ดเลือดขาวที่สามารถต้านทานต่อเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในร่างกายผ่านการตรวจเลือด วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้เข้ารับการตรวจที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อมาแล้ว 2-6 สัปดาห์
- PCR (Polymerase Chain Reaction) วิธีนี้สามารถใช้ตรวจได้ในเด็กทารกหลังคลอดที่อาจได้รับเชื้อจากแม่ จนถึงผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงมาแล้ว 2 สัปดาห์เป็นต้นไป เป็นการตรวจถึงสารพันธุกรรม

ขั้นตอนการตรวจเอชไอวียุ่งยากไหม
- เตรียมตัว ไม่จำเป็นต้องอดน้ำหรืออดอาหารเหมือนการตรวจเลือดอื่น ๆ หากพร้อมแล้ว ก็สามารถจองคิวตรวจตามสถานที่ที่ให้บริการหรือเข้ารับการตรวจได้เลย และเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับการตรวจได้เลยโดยไม่ต้องขอคำยินยอมจากผู้ปกครอง รับคำปรึกษา หลังจากยื่นเรื่องขอเข้ารับการตรวจแล้ว จะมีแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญมาประเมินความเสี่ยง จากนั้นจึงเซ็นใบยินยอมเข้ารับการตรวจ และรอรับการเจาะเลือด
- เจาะเลือด รูปแบบการเจาะเลือดตรวจจะเป็นไปตามการประเมินสภาวะของผู้เข้ารับการตรวจ
- ฟังผล ผู้เข้ารับการตรวจสามารถเลือกวิธีการรับฟังผลตรวจได้ตามรูปแบบที่มีให้ (ฟังผลทันที แจ้งทางอีเมล ฯลฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของสถานที่ที่เข้ารับการตรวจ) ผลของการตรวจเชื้อ HIV สามารถแสดงผลออกมาได้ 2 แบบ
- ผลเลือดเป็นบวก หมายถึงผู้เข้ารับการตรวจมีเชื้ออยู่ในร่างกายเรียบร้อยแล้ว หากเป็นเช่นนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาตัวต่อไปที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ซึ่งสามารถรักษาโดยใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคม
- ผลเลือดเป็นลบ แสดงว่าไม่ติดเชื้อเอชไอวี หรือในอีกกรณีคือยังตรวจไม่พบเชื้อ เรียกว่า ผลลบลวง เนื่องจากเชื้อในร่างกายอยู่ในระยะฟักตัว เพราะฉะนั้นต้องมีการกลับมาตรวจซ้ำในอีก 3-6 เดือนเพื่อให้มั่นใจ
เราต้องตรวจไหม? ใครควรตรวจเอชไอวี ?
ถ้าคุณมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ ก็ควรที่จะเข้ารับการตรวจหาเอชไอวี ทุก 3-6 เดือน หรือเร็วที่สุด
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- คู่ที่ตัดสินใจจะอยู่ด้วยกันฉันท์สามีภรรยา
- ผู้วางแผนที่จะมีบุตร
- สงสัยว่าคู่นอนอาจเป็นผู้ติดเชื้อ
- ผู้ป่วยวัณโรค
- ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
Pingback: ประโยชน์ของการตรวจเอชไอวี (HIV) ที่หลายคนไม่เคยรู้ | Love2Test