จากการสำรวจสุขภาพในปี 2558 (Health Examination) พบว่าคนไทยมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ด้วยทัศนคติแง่ลบเกี่ยวกับความร้ายแรงของโรคเอดส์ในอดีตมากถึงร้อยละ 58.6 ซึ่งมีความต่อเนื่องเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในปี 2560 พบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีการตีตรารวมถึงการเลือกปฏิบัติแง่ลบเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.9 ทั้งในเรื่องการดำเนินชีวิตและในส่วนของการรับบริการจากสถานบริการสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งเหตุผลเหล่านี้นำไปสู่การตัดสินใจไม่กล้าเข้ารับการตรวจเอชไอวี ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเกิดขึ้น บทความนี้ จะกล่าวถึงการตรวจเอชไอวี ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี เพราะการตรวจเอชไอวีเป็นการตรวจที่ง่าย และสะดวก เราทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญ ของการตรวจเอชไอวี
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดในการรณรงค์สร้างความตระหนักที่ถูกต้องให้กับประชาชนทุกคน ในเรื่องเอชไอวีและเอดส์เนื่องในวันเอดส์โลกวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา เพื่อลดการตีตรา และลดการแพร่กระจายของเชื้อให้ลดลงในอนาคต ด้วยการสนับสนุนให้มีการยุติปัญหาเอชไอวี ภายใต้แนวความคิด “Walk Together : เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ไม่ตีตรา” ด้วยจุดประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ก้าวสู่ความเข้าใจที่ตรงกันว่า การติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องที่ไม่น่ารังเกียจ เป็นโรคที่สามารถรักษาได้ด้วยการรับยาต้านเชื้ออย่างมีวินัยและต่อเนื่อง ไม่สามารถติดต่อสู่บุคคลอื่น ๆ ได้ง่ายอย่างที่เข้าใจ และเพื่อให้ผู้ติดเชื้อ หรือ ผู้ที่มีความเสี่ยง กล้าที่จะเข้ารับการตรวจเอชไอวีรวมถึงมีความมั่นใจในการเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันการตรวจเอชไอวีในผู้ที่มีความเสี่ยงจากกรณีต่าง ๆ เป็นหนึ่งในสิ่งที่ประชาชนต่างหันมาให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้มีการบรรจุให้การตรวจเอชไอวีเป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ที่ประชาชนไทยสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ฟรี ภายในสถานพยาบาลของรัฐจำนวน 2 ครั้งต่อปี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการดูแลสุขภาพจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
การตรวจเอชไอวีดีต่อทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น
ความเข้าใจผิดที่ว่าการตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องไกลตัว เป็นแนวทางการตรวจคัดกรองเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงเท่านั้น นับว่าเป็นมุมมองเพียงด้านเดียวของการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี ซึ่งข้อเท็จจริงคือ ไม่ว่าคุณจะมีความเสี่ยง หรือ ไม่มีความเสี่ยง ทุกคนล้วนควรที่จะต้องเข้ารับการตรวจเอชไอวี เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและในกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ จะสามารถทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากเอชไอวีเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่หากทราบว่าติดเชื้อเร็วมากเท่าไหร่ และได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมเร็วเท่านั้น จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงสามารถดำเนินชีวิตได้ปกติหากปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
เมื่อไหร่ที่ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีโดยเร็วที่สุด
สำหรับแนวทางการพิจารณาเพื่อเข้ารับการตรวจเอชไอวี ควรสังเกตจากพฤติกรรมเสี่ยงหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยง การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมไปถึงกรณีที่ถุงยางอนามัยฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งแพทย์จะซักประวัติเบื้องต้นและทำการประเมินเพื่อเข้ารับการตรวจเอชไอวีที่เหมาะสม โดยแพทย์อาจนัดตรวจโดยละเอียดมากกว่า 1 ครั้ง เนื่องจากในระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี ร่างกายจะยังไม่สร้างแอนติบอดี จึงมีความจำเป็นที่ต้องตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผลการตรวจอย่างชัดเจน ในกรณีที่สังเกตพบว่าร่างกายมีความผิดปกติดังต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์ทันที คือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือ ขาหนีบ มีขนาดใหญ่ผิดปกติ ถ่ายเหลวเรื้อรังติดต่อกัน 1 สัปดาห์ น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว มีไข้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 1 สัปดาห์ มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี เป็นอย่างไร?
ปัจจุบันการตรวจเอชไอวีสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เป็นการเพิ่มโอกาสในการตรวจได้ครอบคลุมประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น ด้วยสิทธิการตรวจเอชไอวีฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในสถานพยาบาลของรัฐจำนวน 2 ครั้ง/ปี ซึ่งใช้เทคโนโลยี การตรวจเอชไอวีเบื้องต้น ที่มีความรวดเร็ว สามารถตรวจพบได้ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากมีการติดเชื้อเอชไอวีในร่างกาย ด้วยชุดน้ำยา Fourth generation ที่ใช้ตรวจแอนติเจนของเชื้อ และแอนติบอดีของเชื้อเอชไอวีได้ในคราวเดียว ซึ่ง ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี มีดังต่อไปนี้
แพทย์ประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการซักประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจเอชไอวีเป็นอันดับแรก หากพบว่ามีความเสี่ยงอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต่อไปนี้ แพทย์จะทำการตรวจเลือดและแนะนำแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยง หรือ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่ใช้สารเสพติดชนิดฉีด และมีการใช้กระบอกฉีดยาหรือเข็มฉีดยาร่วมกัน
- ทารกที่เกิดจากมารดาติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศอื่น ๆ
- บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุอันก่อให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ป่วยวัณโรค
รับคำปรึกษาจากแพทย์ และเซ็นเอกสารยินยอม
เมื่อประเมินความเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำและให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจปรึกษาในข้อสงสัยต่าง ๆ ได้โดยละเอียด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี หลังจากนั้นผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวีจะต้องเซ็นใบยินยอมเพื่อรับการตรวจ โดยภายในหนังสือยินยอมจะมีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
- ชื่อ-สกุล, ที่อยู่, ข้อมูลติดต่อต่าง ๆ
- ได้อ่าน หรือ รับฟัง คำอธิบายเกี่ยวกับ “ข้อควรรู้ก่อนรับการตรวจ HIV” แล้วหรือไม่
- มีโอกาสได้ซักถามและได้รับคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเป็นที่พึงพอใจแล้วหรือไม่
- มีความประสงค์ที่จะขอรับการตรวจเอชไอวี จากสถานพยาบาล หรือ สถาบันแห่ง นี้จริงหรือไม่
- มีความยินยอมให้แจ้งผลการตรวจต่อตนเอง หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่
เข้ารับการตรวจเอชไอวี
หลังจากที่ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวีได้ทำการเซ็นยินยอมเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ โดยใช้ระยะเวลาในการตรวจอย่างน้อย 1 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการตรวจที่สถานพยาบาลนั้น ๆ รองรับร่วมด้วย ซึ่งอาจมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้เข้ารับการตรวจควรสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจเข้ารับการตรวจเอชไอวี ปัจจุบันสถานพยาบาลสามารถตรวจเอชไอวีได้ 3 รูปแบบ ดังนี้
1. HIV Ag/Ab combination assay
การตรวจเอชไอวีด้วยชุดตรวจแอนติบอดีของเชื้อเอชไอวีและแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเอชไอวีในครั้งเดียว เป็นน้ำยาตรวจที่มีชื่อว่า Fourth generation ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจเอชไอวีพบได้ใน 2 สัปดาห์หลังร่างกายได้รับเชื้อ
2. HIV p24 antigen testing
การตรวจเอชไอวีด้วยการตรวจหา p24 antigen ซึ่งเป็นโปรตีนของเชื้อเอชไอวีโดยเฉพาะ แพทย์จะเลือกใช้วิธีการตรวจนี้ในผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก เนื่องด้วยเหตุผลที่ร่างกายมีระดับแอนติบอดีต่ำจนไม่สามารถวัดค่าได้
3. Anti-HIV testing
การตรวจเอชไอวีด้วยการตรวจหา Anti-HIV หรือ แอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี ซึ่งวิธีนี้เป็นแนวทางการตรวจที่ผู้เข้ารับการตรวจจะได้รับ จากสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพที่ตรวจได้ฟรีในสถานพยาบาลของรัฐจำนวน 2 ครั้ง/ปี โดยสามารถตรวจพบเชื้อเอชไอวีได้หลังจากได้รับเชื้อ 3 สัปดาห์ขึ้นไป
รับผลการตรวจเอชไอวี
- ผลการตรวจเอชไอวีเป็นลบ (Non-reactive) หมายถึง ผู้ที่เข้ารับการตรวจไม่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย หรือ ตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งอาจเป็นกรณีที่อยู่ในระยะฟักตัวของไวรัสจึงตรวจไม่พบ และผู้เข้ารับการตรวจอาจแพร่เชื้อสู่คู่นอนได้โดยไม่รู้ตัว ในทางการแพทย์เรียกกว่า “ผลลบลวง” โดยที่แพทย์จะนัดตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันผลให้ชัดเจนในช่วง 3 ถึง 6 เดือน ทั้งนี้ผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นจะต้องป้องกันการแพร่เชื้อตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ผลการตรวจเอชไอวีเป็นบวก (Reactive) หมายถึง ผู้ที่เข้ารับการตรวจมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย แพทย์จะให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการรักษาและการดูแลตัวเอง รวมถึงส่งต่อผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาในขั้นตอนต่อไป
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อเอชไอวี หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวีเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การตรวจเอชไอวีเป็นการตรวจที่ง่าย และสะดวก ใช้เวลาไม่นาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญ ของการตรวจเอชไอวี