สถานการณ์การตีตรา: เปลี่ยนความเงียบเป็นการสนับสนุน

Condoms

รู้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อเห็นการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวี ก้าวแรกของการยุติเอชไอวี คือการพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผย และเผชิญหน้ากับการตีตราอย่างตรงไปตรงมา การลุกขึ้นพูด และแสดงจุดยืนเมื่อเห็นพฤติกรรมที่ตีตราผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้

แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป หลายคนยังไม่แน่ใจว่าจะพูด หรือทำอย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ ลองอ่านคำแนะนำด้านล่าง ที่จะช่วยให้คุณรับมือ กับการตีตราในชีวิตประจำวันได้อย่างมีพลังและเห็นผล

สถานการณ์ตัวอย่างที่ 1

คุณไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ของครอบครัว พร้อมกับน้องสาว ซึ่งเพิ่งเปิดเผยกับครอบครัวว่าเธอมีเชื้อเอชไอวี ขณะที่คุณเดินทักทายและกอดญาติ ๆ อย่างเป็นกันเอง ญาติคนหนึ่งของคุณกลับลังเลเมื่อต้องทักทายน้องสาวของคุณ พร้อมพูดว่า “เราจะไม่ติดเอดส์ใช่ไหม?”

สิ่งที่คุณสามารถทำได้:
  • แสดงพฤติกรรมที่ดี ด้วยการกอดน้องสาวของคุณอย่างมั่นใจ เพื่อให้เห็นว่า ไม่มีอะไรต้องกลัว
  • หาโอกาสแบ่งปันข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเอชไอวี อาจพูดว่า “เราไม่แน่ใจว่าคุณรู้ไหมว่า เอชไอวีไม่ได้ติดต่อผ่านการกอด จับมือ หรือหอมแก้มในการทักทายกันนะ เพราะเชื้อนี้ไม่สามารถอยู่รอดนอกตัวร่างกายได้” และเสนอที่จะพูดคุยเพิ่มเติม และตอบคำถามที่เขาหรือเธออาจสงสัยเกี่ยวกับเอชไอวี
  • ติดตามภายหลัง ด้วยการส่งอีเมลหรือข้อความ ที่มีลิงก์ไปยังแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับเอชไอวี เช่น เว็บไซต์จากหน่วยงานสาธารณสุข หรือองค์กรด้านเอชไอวี
สถานการณ์ตัวอย่างที่ 2

คุณกำลังคบหากับคนรักคนใหม่ และความสัมพันธ์เริ่มจริงจังขึ้น คุณตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะบอกคนรักว่าคุณมีเชื้อเอชไอวี เมื่อคุณบอก เขาแสดงอาการโกรธและพูดว่า "ทำไมไม่ไปคบกับคนที่เป็นอยู่แล้วล่ะ จะได้ไม่ต้องมาทำให้คนอื่นลำบากใจ"

สิ่งที่คุณสามารถทำได้:
  • ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจเดินหน้าความสัมพันธ์ต่อหรือไม่ นี่คือโอกาสที่จะลุกขึ้นยืนหยัดต่อการตีตราเอชไอวี และแสดงให้เห็นว่าคำพูดเช่นนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อผู้มีเชื้อเอชไอวี คุณอาจเริ่มด้วยการยอมรับว่า “เรารู้ว่าการรู้ว่าคู่ของตัวเองมีเชื้อเอชไอวี อาจทำให้รู้สึกตกใจ แต่การเปิดเผยแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเราเลย เพราะเรารู้ดีว่าหลายคนก็ตอบสนองแบบนี้”
  • ใช้โอกาสนี้ในการชี้แนะเรื่องการใช้ภาษาที่ไม่ตีตรา เช่น “เราอยากให้เข้าใจว่า การเรียกคนที่มีเชื้อว่า ‘คนป่วย’ มันไม่เหมาะนะ เพราะจริง ๆ แล้วคนที่มีเชื้อ สามารถมีชีวิตที่แข็งแรงและยืนยาวได้ ถ้าได้รับการรักษาและดูแลอย่างถูกต้อง คำที่เหมาะสมกว่าคือ ‘ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี’ มากกว่า”
  • อธิบายว่า “คนที่มีเชื้อเอชไอวี และกินยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ จนไวรัสตรวจไม่เจอ (Undetectable Viral Load) จะไม่แพร่เชื้อให้คู่นอนทางเพศสัมพันธ์ได้เลย นี่คือหลักฐานทางการแพทย์ที่เรียกว่า U=U หรือตรวจไม่เจอ = ไม่แพร่เชื้อ”
  • สนับสนุนให้คนรักเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเอชไอวี และวิธีการป้องกัน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรือยาเพร็พ (PrEP) ซึ่งช่วยให้คู่ที่คนหนึ่งมีเชื้อและอีกคนไม่มี สามารถมีความสัมพันธ์ที่ปลอดภัยได้
สถานการณ์ตัวอย่างที่ 3

เพื่อนของคุณเรียกคุณ และเพื่อนอีกหลายคนมารวมตัวกัน เพื่อเปิดเผยว่าเขามีเชื้อเอชไอวี หนึ่งในเพื่อนตอบทันทีว่า “ติดมาได้ยังไง? แล้วรู้ไหมว่าใครเป็นคนทำให้ติด?”

สิ่งที่คุณสามารถทำได้:
  • เปลี่ยนทิศทางของบทสนทนา ด้วยการแสดงความเข้าใจและพูดว่า “เราดีใจมากที่นายไว้ใจและกล้าบอกพวกเราแบบนี้นะ อยากเล่าความรู้สึกของนายมากกว่านี้ไหม?”
  • ถามเพื่อนอย่างอ่อนโยนว่าเขาได้เริ่มต้นการรักษาแล้วหรือยัง หากยัง คุณควรเสนอตัวไปเป็นเพื่อน ตอนพบแพทย์ หรือพูดคุยเกี่ยวกับทางเลือกในการดูแลสุขภาพ
  • ภายหลัง พูดคุยกับเพื่อนที่ถามคำถามนั้นอย่างเป็นส่วนตัว และอธิบายว่าการถามว่าติดมาจากใครหรืออย่างไรนั้นเป็นคำถามที่ไม่เหมาะสม
  • ใช้โอกาสนี้อธิบายว่า การตีตราคืออะไร และทำไมมันถึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการรักษาของผู้ติดเชื้อ
  • อย่าตัดสินเพื่อนคนนั้น แต่ใช้ความเข้าใจในการช่วยให้เขาเรียนรู้มากขึ้น
  • การเรียนรู้เกี่ยวกับเอชไอวี เช่น วิธีการติดต่อ และทางเลือกในการรักษา คือ ก้าวแรกของการเป็นผู้สนับสนุนที่ดี สำหรับคนที่คุณรักซึ่งมีเชื้อเอชไอวี

การสื่อสารอย่างเปิดเผย และการตั้งคำถามเกี่ยวกับเอชไอวีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอชไอวี แต่อย่าลืมว่า เราทุกคนมีหน้าที่ในการตอบสนองอย่างมีน้ำใจ ใส่ใจ และให้การสนับสนุน แทนที่จะใช้ถ้อยคำที่ตีตรา หรือนำไปสู่ความเข้าใจผิด เมื่อมีการเปิดเผยสถานะเอชไอวี หรือเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโรคนี้

สถานการณ์ตัวอย่างที่ 4

ระหว่างการแข่งบาสเกตบอลประจำสัปดาห์ของคุณ มีคนพูดถึงเพื่อนร่วมทีมคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มาวันนี้ โดยเล่าว่าเขาโพสต์บนเฟซบุ๊กว่าเขากำลังจะไปตรวจเอชไอวี จากนั้นเพื่อนร่วมทีมบางคนก็แสดงความเห็นในเชิงลบและตัดสินเขา

สิ่งที่คุณสามารถทำได้:
  • แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว เช่น “ครั้งล่าสุดที่เราตรวจเอชไอวีคือเมื่อไหร่” แล้วชวนพูดคุยว่า “นายเคยคิดจะตรวจไหม? การตรวจมันเป็นเรื่องปกติมากนะ เหมือนตรวจสุขภาพประจำปีเลย”
  • อธิบายว่า การรู้สถานะของตัวเองช่วยให้เราดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น ชี้ให้เพื่อนร่วมทีมเห็นว่า“การแสดงความเห็นในเชิงลบแบบนี้ มันเป็นการตีตรา”
  • “คนที่กล้าไปตรวจหรือพูดเรื่องสุขภาพตัวเองควรได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่คำตัดสิน เพราะคำพูดพวกนี้อาจทำให้คนอื่นไม่กล้าตรวจ ทั้งที่เขาอาจเสี่ยงอยู่ก็ได้”
สถานการณ์ตัวอย่างที่ 5

เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งพูดกับคุณว่า “คนนั้นไม่ควรเอาอาหารมาแชร์ในงานเลี้ยงของออฟฟิศนะ เพราะเขามีเชื้อเอชไอวี”

สิ่งที่คุณสามารถทำได้:

มีคนพูดว่า “เขาไม่ควรเอาอาหารมาแชร์นะ เพราะเขามีเชื้อเอชไอวี”

  • ตอบกลับอย่างสุภาพด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น “ไม่ต้องกังวลเลยนะ เพราะเอชไอวี ไม่ได้ติดต่อผ่านการรับประทานอาหาร แม้ว่าอาหารนั้นจะเตรียมโดยคนที่มีเชื้อก็ตาม”
  • ช่วยให้เพื่อนเข้าใจว่า “การหลีกเลี่ยงการสัมผัสในชีวิตประจำวันกับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการตีตรา” และการกระทำเช่นนั้นอาจทำให้คน ๆ หนึ่งรู้สึกโดดเดี่ยวและถูกผลักออกจากสังคม
  • แสดงพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างเชิงบวก เช่น รับประทานอาหารที่เพื่อนร่วมงานคนนั้นนำมา แชร์โต๊ะอาหารด้วยกัน หรือพูดคุยกับเขาเป็นประจำ เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของทีม ไม่ถูกแยกออก