เชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นสาเหตุของการนำไปสู่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังไม่สามารถคิดค้นยา ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาให้หายขาดได้ 100% แต่มีเพียงยาที่ใช้ในการต้านไวรัสเอชไอวีเท่านั้น จึงทำให้การป้องกันที่ถูกวิธี และการตรวจเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ย่อมส่งผลดีกว่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ ปัจจุบันกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการสร้างความตระหนักถึงการป้องกัน และการแพร่เชื้อเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกได้มีการกำหนดให้ วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อรณรงค์ยุติปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการวางยุทธศาสตร์ในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ลดการเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวี และเพิ่มความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อลดการเลือกปฏิบัติในผู้ป่วยเอชไอวี ในบทความนี้เราจะพูดถึง ขั้นตอนการตรวจเอชไอวี วิธีการตรวจเอชไอวี และวิธีแปลผลการตรวจ
แนวทางในการป้องกันที่ได้ประสิทธิภาพ จะต้องปฏิบัติควบคู่กัน ด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การหลีกเลี่ยงโอกาสที่ส่งผลให้ติดเชื้อเอชไอวี และการตรวจเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงจะสามารถชะล่าใจไม่รับการตรวจได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเอชไอวีเป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ และในช่วงที่ติดเชื้อระยะแรกจะไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ความเสี่ยงต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้น การตรวจเอชไอวีจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ในการทราบสถานะของตนอย่างชัดเจน ทำให้สามารถรับมือหรือเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี
แนวทางการตรวจเอชไอวีตามหลักสากล
เป็นหลักการตรวจเอชไอวีที่มีชื่อว่า 5C ซึ่งจะต้องกระทำภายใต้แนวคิดในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้เข้ารับการตรวจให้มากที่สุด โดยมีหลักการดังต่อไปนี้
- Consent
คือ ผู้ที่เข้ารับการตรวจเอชไอวีจะต้องมีความยินยอมด้วยความสมัครใจ ซึ่งกำหนดให้มีการเซ็นใบยินยอม เพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน หรือ เป็นการยินยอมทางวาจา ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้เข้ารับการตรวจ - Confidentiality
คือ ผู้ที่ให้บริการตรวจเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชน รวมไปถึงคลินิกเฉพาะทาง จะต้องมีการวางมาตรการป้องกันการเปิดเผยผลการตรวจเอชไอวี และข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ของผู้เข้ารับการตรวจ ให้กับผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้รับการตรวจโดยตรง - Counseling
คือ การที่ผู้เข้ารับการตรวจเอชไอวี มีความจำเป็นจะต้องได้รับคำแนะนำ และ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจทั้งก่อนและหลังการตรวจเอชไอวีได้เสมอ ซึ่งผู้ให้บริการตรวจเอชไอวีต้องผ่านการอบรมอย่างถูกต้อง - Correct test result
คือ ผู้ให้บริการตรวจเอชไอวีจะต้องมีการจัดแผนบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถเชื่อมั่นได้ว่า ผลการตรวจเอชไอวีที่ได้รับมาจากเจ้าหน้าที่นั้นมีความถูกต้องและแม่นยำมากที่สุด - Connection to care
คือ ผู้ให้บริการตรวจเอชไอวีต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ในการส่งต่อผู้เข้ารับการตรวจที่มีผลชัดเจนแล้วว่า ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อเข้ารับการรักษาในหน่วยงานที่รองรับได้อย่างเหมาะสม
ขั้นตอนในการเข้ารับการตรวจเอชไอวี
สำหรับขั้นตอนการตรวจเอชไอวีในผู้ที่ต้องการตรวจหาเชื้อ เพื่อป้องกันและรับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ หากต้องการเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง จะต้องลงนามยินยอมเพื่อเข้ารับการตรวจด้วยความสมัครใจ และหลังจากนั้นจะได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินเบื้องต้น จึงจะทำการตรวจเอชไอวีโดยการเจาะเลือด และนำไปวินิจฉัยภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างละเอียด
วิธีการตรวจเอชไอวี มีกี่แบบ ?
ในการตรวจวินิจฉัยเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี โดยห้องปฏิบัติการแพทย์ในปัจจุบันมีทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่
1. HIV p24 antigen testing
เป็นการตรวจเอชไอวีโดยการตรวจหา antigen ของเชื้อไวรัสเอชไอวี ในร่างกายผู้เข้ารับการตรวจ ด้วยการตรวจหาโปรตีนของเชื้อที่มีชื่อว่า p24 antigen วิธีการนี้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระยะแรก เนื่องจากร่างกายยังไม่มีการสร้าง Anti-HIV หรือ ร่างกายมีระดับแอนติบอดีต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงไม่สามารถวัดค่าได้ ซึ่งวิธีการตรวจเอชไอวีแบบ HIV p24 antigen testing จะตรวจพบได้หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวีประมาณ 2 สัปดาห์
2. Anti-HIV testing
เป็นการตรวจเอชไอวีโดยการตรวจหา แอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัสเอชไอวี (Anti-HIV) ซึ่งเป็นวิธีการวินิจฉัยที่สามารถตรวจพบได้หลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวีประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ เป็นวิธีการที่แพทย์นิยมใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน และได้รับการบรรจุให้เป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพที่คนไทยสามารถรับการตรวจได้ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ณ โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ
3. HIV Ag/Ab combination assay
เป็นการตรวจเอชไอวีโดยการใช้ชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี และตรวจแอนติบอดีของเชื้อเอชไอวีในน้ำยาเดียวกัน ซึ่งเป็นวิธีการตรวจ HIV p24 antigen และ Anti-HIV ในครั้งเดียวกันได้ โดยเรียกน้ำยาที่ใช้ในการตรวจนี้ได้อีกอย่างว่า Fourth generation ปัจจุบันแพทย์นิยมใช้น้ำยาชนิดนี้อย่างแพร่หลายสำหรับตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเอชไอวี สามารถตรวจพบได้หลังร่างกายได้รับเชื้อเอชไอวีประมาณ 2 สัปดาห์
4. Nucleic Acid Test (NAT)
เป็นการตรวจเอชไอวีโดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส HIV ที่มีชื่อว่า NAT : nucleie acid test ซึ่งเป็นวิธีที่มีความรวดเร็วในการตรวจหาเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในปัจจุบัน แพทย์นิยมใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดที่ได้รับจากผู้บริจาคโลหิตเท่านั้น แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ในการตรวจเอชไอวีเพื่อคัดกรองผู้ป่วยภายในสถานพยาบาลทั่วไป การตรวจเอชไอวีแบบ NAT สามารถตรวจพบได้หลังจากติดเชื้อเอชไอวีในร่างกายประมาณ 3 – 7 วันเท่านั้น
วิธีแปลผลการตรวจเอชไอวีเป็นอย่างไร?
- กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจ ไม่มีประวัติที่เสี่ยง ต่อการติดเชื้อเอชไอวี และผลตรวจพบว่า ลบ หมายถึงไม่ติดเชื้อเอชไอวี
- กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจ เคยมีประวัติที่เสี่ยง ต่อการติดเชื้อเอชไอวี และผลตรวจพบว่า Reactive มีความจำเป็นที่แพทย์จะต้องตรวจเอชไอวีซ้ำอีกครั้ง ด้วยรูปแบบการตรวจที่ต่างกัน
- กรณีที่ตรวจเอชไอวีครั้งที่ 2 ได้ผลเป็น Reactive ตรงกับรูปแบบการตรวจครั้งแรก นั่นหมายถึง ติดเชื้อเอชไอวี
- กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีผลเลือดเป็น บวก แพทย์จะให้ตรวจเลือดยืนยันอีกครั้ง หรือมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อประเมินแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับร่างกายผู้ป่วยมากที่สุด
- กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีผลการตรวจเอชไอวีที่ไม่แน่ชัด หรือ ไม่สอดคล้องกับการตรวจครั้งแรก แพทย์จะนัดตรวจอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ถัดไป รวมถึงต้องติดตามผลจนครบ 30 วัน หากผลตรวจเป็น Non-reactive หมายถึงไม่ติดเชื้อเอชไอวี แต่ถ้าผลการตรวจเป็น บวก หมายถึงติดเชื้อเอชไอวี
กลุ่มบุคคลที่ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่ได้มีการป้องกัน
- ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยขาดสติ จากฤทธิ์ยาเสพติด หรือแอลกอฮอล์
- ชายที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย
- ผู้ป่วยวัณโรค
- หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับบริการฝากครรภ์ ณ สถานพยาบาล
- ผู้ติดสารเสพติดที่มีการใช้เข็มฉีดยา หรือ กระบอกฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- ทารกที่เกิดจากมารดาติดเชื้อเอชไอวี
- บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ จากอุบัติเหตุขณะปฏิบัติงาน
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่มีคู่นอนติดเชื้อเอชไอวี
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
โดยสรุป การตรวจเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจด้วยวิธีไหน ย่อมเป็นผลดีต่อตัวเราเองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ช่วยให้ทราบถึงสถานะการติดเชื้อของตัวเอง หากไม่ติดเชื้อก็จะได้หาแนวทางป้องกันตัวเองได้ในอนาคต หากติดเชื้อก็สามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ลดความเสี่ยงในการป่วยจากโรคฉวยโอกาส