หากพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงการป้องกันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุก ๆ ปีแล้ว แน่นอนว่าโรคเอดส์ หรือ เอชไอวี คือสิ่งที่สังคมไทยและทั่วโลกต่างทราบเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อ่อนแอลง ซึ่งระยะสุดท้ายของโรคคืออาการของโรคฉวยโอกาสต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เสียชีวิตได้ในที่สุด อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนายาที่รักษาให้หายขาดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้หลาย ๆ คนเกิดข้อสงสัยมากมายต่อเอชไอวี รวมถึงการตรวจเอชไอวี โดยในบทความนี้ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการ การรักษา รวมข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจเอชไอวี มาให้ทุกคนที่สนใจได้ทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
ถ้าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ควรตรวจเอชไอวีหรือไม่?
เชื่อว่าคำถามนี้เป็นหนึ่งในข้อสงสัยของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากทราบดีว่าสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ จึงทำให้ผู้ที่มั่นใจว่าตนไม่เข้าข่ายพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านั้น ไม่ให้ความสำคัญต่อการตรวจเอชไอวี ในกรณีนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าประชาชนทุกคนควรได้รับการตรวจเอชไอวี เนื่องจากสถิติของกรมควบคุมโรคได้เผยว่า ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่ทราบสถานะของตนประมาณ 2.8 หมื่นคนต่อปี ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้โดยไม่รู้ตัว
ข้อแนะนำในการตรวจเอชไอวี
- ผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงควรตรวจเอชไอวีอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงควรตรวจเอชไอวีเป็นประจำ 3 เดือน หรือ 6 เดือน
- การตรวจเอชไอวีเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มิใช่เรื่องน่ารังเกียจอย่างที่หลายคนเข้าใจแต่อย่างใด
ตรวจเอชไอวีได้ที่ไหนบ้าง?
คนไทยทุกคนสามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรี 2 ครั้ง/ปี ณ โรงพยาบาลที่สามารถใช้สิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพทุกแแห่งทั่วประเทศ หรือ คลินิกที่ร่วมโครงการ เช่น คลีนิคนิรนาม หรือ ศูนย์ให้บริการด้านเอชไอวี เป็นต้น ทั้งนี้ควรสอบถามรายละเอียดบริการเพื่อความมั่นใจอีกครั้ง
กรุงเทพฯ
- เซฟ คลินิก (Safe Clinic)
- SWING สาขาสีลม
- BUDDY CU โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- คลินิกชุมชนสีลม
- Glove คลินิก
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- SWING สาขาสะพานควาย
- คลินิกรักษ์เพื่อน คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- BRO บางกอกเรนโบว์ (สะพานควาย)
- แทนเจอรีน
- คลินิกนิรนาม
- ฟ้าสีรุ้ง รามคำแหง
- พีเอสเค คลินิก
- HIV-NAT
- พริบตา
- PULSE คลินิก
ชลบุรี
- ฟ้าสีรุ้ง ชลบุรี
- SWING สาขาพัทยา
นครราชสีมา
- เอ็มพลัส นครราชสีมา
อุบลราชธานี
- ฟ้าสีรุ้ง อุบลราชธานี
ขอนแก่น
- แอ๊คทีม ศูนย์บริการสุขภาพชุมชน
- KKbefriend
อุดรธานี
- มูลนิธิเอ็มเฟรนด์
เชียงใหม่
- คลินิก ฮักษา กลางเวียง
- แคร์แมท เชียงใหม่
- เอ็มพลัส เชียงใหม่
- พิมาน
เชียงราย
- เอ็มพลัส เชียงราย
พิษณุโลก
- เอ็มพลัส พิษณุโลก
ภูเก็ต
- ภูเก็ต เมดิคอล คลินิก
สุราษฎร์ธานี
- วีระพงศ์ คลินิก
สงขลา
- ฟ้าสีรุ้ง หาดใหญ่
เอชไอวีต่างจากโรคเอดส์อย่างไร?
เอชไอวีคือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้ผู้ที่ติดเชื้อ มีภาวะระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติและถูกทำลาย จนก่อให้เกิดระยะของโรคต่าง ๆ ซึ่งระยะสุดท้ายของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีคือ โรคเอดส์นั่นเอง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวีทุกรายจะต้องเป็นเอดส์เสมอไป เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้คิดค้นยาต้านไวรัส เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการขยายตัวของเชื้อเอชไอวี และส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอย่างเข้มงวดตามคำแนะนำของแพทย์ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า เอชไอวีต่างจากโรคเอดส์ คือ เอชไอวีเป็นเชื้อไวรัส ส่วนโรคเอดส์เป็นโรคที่เกิดขึ้นในระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี
เมื่อไหร่ที่ควรเข้าตรวจเอชไอวี?
การตรวจเอชไอวีให้เร็วที่สุดเพื่อให้ทราบผลอย่างชัดเจน ย่อมเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดต่อและการแพร่เชื้อ รวมไปถึงการรักษาที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการเข้าสู่ระยะที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งเมื่อไหร่ที่ผ่านพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับประเมินความเสี่ยง เพื่อเข้ารับการตรวจเอชไอวีอย่างถูกต้อง
อาการเบื้องต้นของการติดเชื้อ เอชไอวี
- มีไข้
- ท้องเสียเรื้อรัง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ต่อมน้ำเหลืองโตผิดปกติ
- อ่อนเพลีย
- อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะแสดงอาการเหล่านี้หลังจากที่ได้รับเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการต่าง ๆ จะหายดีขึ้นเป็นปกติภายในไม่กี่สัปดาห์ จึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนติดเชื้อเอชไอวี และสามารถแพร่เชื้อให้คู่นอนได้โดยไม่รู้ตัว
พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรเข้ารับการตรวจเอชไอวี
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
- การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบผลเลือด
- ถุงยางฉีกขาดขณะมีเพศสัมพันธ์
- อุบัติเหตุทางการแพทย์ที่ส่งผลต่อการติดเชื้อเอชไอวี
- บาดแผลเปิดที่ได้มีการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือเลือดของบุคคลอื่น
ใครบ้างที่ควรตรวจเอชไอวี?
- ผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ
- ผู้ไม่สวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ป่วยวัณโรค
- ผู้ที่ต้องการวางแผนชีวิตคู่และการมีบุตร
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่มักเปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำ
- บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อติดเชื้อเอชไอวีจากอุบัติเหตุ
- หญิงตั้งครรภ์ที่เข้าสู่กระบวนการฝากครรภ์
- ผู้ที่ไม่มั่นใจในผลเลือดของคู่นอน
- ผู้ที่ทราบว่าคู่นอนติดเชื้อเอชไอวี
- ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย
ตรวจเอชไอวี ต้องใช้เวลานานหรือไม่ ?
ระยะเวลาในการตรวจเอชไอวีจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ว่าความเสี่ยงของผู้เข้ารับการตรวจ ควรรับการวินิจฉัยแบบใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งในแต่ละสถานพยาบาลอาจรองรับเทคโนโลยีการตรวจได้ต่างกัน โดยเบื้องต้นแล้วการตรวจเอชไอวีจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการซักประวัติ และรับคำแนะนำต่าง ๆ จะใช้เวลาประมาณ 30 – 45 นาที หลังจากนั้นแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจเอชไอวีเมื่อผู้ที่รับการตรวจเซ็นยินยอมเรียบร้อยแล้ว จากนั้นแจ้งผลการตรวจให้ทราบเร็วที่สุดคือ 1 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล
เมื่อตรวจเอชไอวีแล้วทราบว่าติดเชื้อ ควรทำอย่างไร?
ในกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี สถานพยาบาลนั้น ๆ จะทำการส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิได้ หรือ ทำการรักษาโดยเร็วที่สุด ซึ่งในระหว่างที่เข้ารับการรักษานั้นผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม เกี่ยวกับแนวทางการรักษา การดำเนินชีวิตต่าง ๆ โดยไม่ส่งต่อเชื้อสู่ผู้อื่น การดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง แนะนำคู่นอนให้เข้าตรวจเอชไอวีเพื่อความมั่นใจ และสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ป่วยควรบอกคนในครอบครัวให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีอย่างถูกต้อง
ข้อแนะนำในการดูแลตัวเอง สำหรับผู้ป่วยเอชไอวี
- รับประทานยาให้ตรงเวลา และปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อช่วยระบบภูมิคุ้มกัน
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง
- ลดความวิตกกังวล และปรึกษาแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย
- หมั่นดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดในการดำเนินชีวิตมากขึ้น
- เมื่อร่างกายมีภาวะที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ผลการตรวจเอชไอวี ลบ และ บวก หมายความว่าอย่างไร?
ผลการตรวจเอชไอวีจะแสดงออกเป็น 2 ค่า ประกอบด้วย
ผลตรวจเอชไอวี | ความหมาย |
ผลลบ หรือ HIV Negative | ผู้เข้ารับการตรวจไม่ติดเชื้อเอชไอวี |
ผลบวก หรือ HIV Positive | ผู้เข้ารับการตรวจติดเชื้อเอชไอวี |
ส่วนใหญ่การที่ผลตรวจมีค่าเป็น ผลลบ แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการตรวจซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากผู้เข้ารับการตรวจบางราย อาจได้รับเชื้อเอชไอวีแต่อยู่ในระยะต่ำกว่า 4 สัปดาห์ จึงส่งผลให้ผลการตรวจเอชไอวีไม่ชัดเจน
อ่านบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- นโยบายการยุติปัญหาเอชไอวีและการตรวจเอชไอวีจากอดีตถึงปัจจุบัน
- หลักปฏิบัติและแนวทางการวิเคราะห์ในการตรวจเอชไอวี
หากคุณมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบตรวจคัดกรองโดยเร็ว คนไทยทุกคนสามารถตรวจเอชไอวีได้ฟรี 2 ครั้ง/ปี ณ โรงพยาบาลที่สามารถใช้สิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพทุกแแห่งทั่วประเทศ หรือ คลินิกที่ร่วมโครงการ